สไลด์เข่าไปกับผืนหญ้า กระโดดตัวลอย หรือแม้กระทั่งตีลังกา หลังการยิงประตู กลายเป็นสิ่งคุ้นชินในสายตาแฟนบอล เมื่อการฉลองเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับฟุตบอลในยุคปัจจุบัน

แน่นอนว่าเหตุผลหลักก็คือความสนุก เพราะคงไม่มีอะไรที่จะน่ายินดีไปกว่าการยิงประตูได้ ทว่ามันเป็นแค่ความสนุกจริงหรือ?

การฉลองประตูในยุคแรก

ฟุตบอล ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากมันมีกฎกติกาที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก ด้วยเป้าหมายหลักเพียงแค่การส่งบอลเข้าไปอยู่ในก้นตาข่ายคู่แข่งให้ได้ ใครทำได้มากกว่าภายในเวลาที่จำกัดคนนั้นคือผู้ชนะ

ดังนั้น ความสนุกของกีฬาชนิดนี้จึงอยู่ที่การยิงประตูที่มีรูปแบบหลากหลาย ตั้งแต่ง่ายๆไปจนถึงพิสดาร และหลายครั้งมันก็สามารถสร้างความตื่นเต้นให้แก่แฟนบอลในสนาม รวมไปถึงอีกหลายล้านคนที่เฝ้าดูผ่านหน้าจอโทรทัศน์

ทั้งนี้ นอกจากการยิงประตูแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความสนุกให้แฟนบอลได้ก็คือ “ท่าดีใจ” ที่หลายท่ากลายเป็นที่จดจำ ไม่ว่าจะเป็นท่า “Siu” ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ท่ากอดอกของ คีลิยัน เอ็มบับเป้ หรือท่าชี้มือขึ้นฟ้าของ ลิโอเนล เมสซี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ท่าทางเหล่านี้อาจจะไม่ใช่สิ่งปกติ หากย้อนกลับไปในยุค 1940s-1950s เมื่อมันไม่ค่อยได้รับความสนใจจากแฟนบอลมากนัก และมักจะถูกตัดออกตอนรีเพลย์ด้วยซ้ำ หรือถ้าหากถูกกล้องจับภาพที่คุ้นชินก็จะเป็นผู้เล่นรีบกลับไปที่วงกลมกลางสนามเพื่อรอเขี่ยลูกมากกว่า

“วัตถุประสงค์หลักของฟุตบอลคือ การยิงประตู เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นการกลับไปยังกลางสนามทันทีเพื่อเริ่มเกมใหม่และยิงประตูอีกครั้ง” มาร์ก เทอร์เนอร์ อาจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโซเลนต์ ประเทศอังกฤษ อธิบายกับ DW

“มันจึงไม่ใช่การไปยืนอยู่หน้ากล้องและฉลองตามสไตล์ที่เฉพาะเจาะจง มันไม่สมเหตุสมผลที่จะทำแบบนั้น”

หรือบางครั้ง สิ่งที่แฟนบอลในยุคนั้นได้เห็น อาจจะเป็นการแสดงความดีใจแบบสงวนท่าที เช่น ยิ้มเล็กน้อย หรือแค่กำหมัดเล็กๆ ซึ่งต่างจากยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก

“พวกเขาค่อนข้างอนุรักษ์นิยมมาก พวกเขามีความเป็นชายมาก จึงไม่มีการแสดงความรู้สึกที่แท้จริง” เทอร์เนอร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะธุรกิจ กีฬา และวิสาหกิจ กล่าวต่อ

“คนทำประตูได้ในยุค 1950s และต้น 1960s มีรีแอ็กชั่นหลังยิงประตูอยู่นะ มันเป็นสิ่งที่พวกเขาทำหลังจากยิงประตูได้ แต่มันไม่ใช่รีแอ็กชั่นที่ดูเกินจริง เป็นรีแอ็กชั่นที่เข้าใจได้ง่าย”

 

UFABETWIN

 

นอกจากนี้ การแสดงความดีใจแบบในยุคปัจจุบันอาจจะทำให้แฟนบอลหรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมทีมมองว่าเป็นคนแปลก แถมการเด่นอยู่คนเดียวก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เพราะในยุคนั้น ฟุตบอลเป็นเรื่องของทีมมากกว่าตัวบุคคล

“พวกเขา(แฟนบอล)ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับภาพที่น่าตื่นเต้นแบบนั้น พวกเขาไม่มีวิธีเข้าถึงผู้เล่นในช่วงเวลาหลังยิงประตู” เทอร์เนอร์ อธิบาย

แล้วถ้าอย่างนั้น การฉลองหลังยิงประตูเริ่มมีความสำคัญตั้งแต่เมื่อไร?

โลกที่หมุนไป

“หากพูดถึงโรงงานรถยนต์ฟอร์ดในช่วงทศวรรษที่ 1940s-1950s จะพบว่าโรงงานฟอร์ดโดดเด่นขึ้นมาได้จากการผลิตครั้งละมากๆ มันเป็นมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ มันเป็นรถที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการบริโภคจำนวนมาก” เทอร์เนอร์ กล่าว

“และผมคิดว่าการฉลองประตูในการแข่งขันก็มีที่มาจากสิ่งนั้น”

ทศวรรษที่ 1960 คือหนึ่งในยุคที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรม และมันก็ทำให้ผู้คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่นักฟุตบอล ที่สื่อทำให้พวกเขาโดดเด่นขึ้นมาในฐานะซูเปอร์สตาร์

การได้รับความสนใจเช่นนี้ทำให้นักฟุตบอลตระหนักถึงตัวตนของตัวเองมากขึ้น และมันก็ทำให้พวกเขามีความปัจเจกยิ่งขึ้นไปอีก และช่วงเวลาในสนามที่เป็นปัจเจกได้มากที่สุดก็คือตอนที่ยิงประตูได้

การแสดงความดีใจในยุคนั้นจึงเริ่มมีความแตกต่างและเป็นเอกเทศมากขึ้น ก่อนที่ฟุตบอลโลก 1970 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แข่งขันฟุตบอลโลกในอเมริกาและมีการออกอากาศเป็นภาพสีในยุโรป ทำให้การฉลองหลังยิงประตูมีบรรยากาศที่เปลี่ยนไป

เพราะนอกจากความดีใจแล้ว มันยังมีความสุดเหวี่ยงและสะใจ ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือท่าดีใจของ เปเล่ ที่กระโดดขี่เพื่อนร่วมทีมก่อนตะโกนร้องด้วยความดีใจ หลังโหม่งประตูขึ้นนำในเกมนัดชิงชนะเลิศกับอิตาลี ก่อนจะเอาชนะไปได้ 4-1 ในท้ายที่สุด

“ผู้คนกำลังดูอยู่ ผู้คนเคยเห็นการทำประตูเหล่านี้ ประตู ประตู และประตู ดังนั้น นักฟุตบอลจึงตระหนักได้ถึงสิ่งนั้น พวกเขาตระหนักได้ว่าพวกเขามีคนดูอยู่และมีสิ่งที่ต้องแสดงให้เห็น” เทอร์เนอร์ กล่าว

หลังจากนั้นไม่นาน การฉลองประตูก็เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อฟุตบอล และการโห่ร้องด้วยความดีใจก็กลายเป็นการโห่ร้องเพื่อตัวเองมากขึ้น เพราะนักฟุตบอลเริ่มรู้ว่า ยิ่งพวกเขาแสดงความดีใจได้แปลกและแตกต่าง มันก็จะทำให้พวกเขาโด่งดังยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น โรเจอร์ มิลลา กองหน้าทีมชาติแคเมอรูน แม้ว่าเขาจะลงเล่นในระดับนานาชาติมาตั้งแต่ปี 1973 แต่ช็อตที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือการฉลองประตูด้วยการเต้นระบำที่มุมธงในฟุตบอลโลก 1990 ที่อิตาลี

“ในช่วงทศวรรษที่ 1990s การฉลองประตูกลายเป็นผลสะท้อนของความเป็นตัวเอง เป็นการผสมผสานทางศิลปะกับการเล่นสนุกไม่จริงจัง มันมีเรื่องของการล้อเลียนมากๆ มันมีความเป็นสมัยใหม่จริงๆ” เทอร์เนอร์ กล่าวต่อ

“มันเกือบจะเป็นเรื่องของการกระทำปกติ มันกลายเป็นเหมือนท่าโพสต์ และมันก็ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นจากการแข่งขัน”

จากนั้น การแสดงความดีใจก็ได้ถูกใช้เป็นลายเซ็นของนักฟุตบอลผ่านการทำซ้ำๆจนติดตา ตัวอย่างเช่น ท่าชูมือขึ้นเหนือหัวของ อลัน เชียเรอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ และ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่ถูกล้อเลียนว่าดูเชยและน่าเบื่อ เป็นต้น

“มันไม่น่าเบื่อสำหรับผมตลอด 422 ครั้งที่ผ่านมาหรอกนะ” เชียเรอร์ กล่าวพร้อมกับระเบิดเสียงหัวเราะ

และในเวลาต่อมา มันกลายเป็นสิ่งที่แทบขาดไม่ได้ในโลกลูกหนัง

เครื่องมือในการสื่อสาร

การแสดงความดีใจหลังทำประตูได้เริ่มมีความเด่นชัดอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1990s เมื่อมันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น แถมหลายครั้งก็มาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์จนกลายเป็นที่จดจำ

และเมื่อโลกหมุนไปข้างหน้า สิ่งนี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของนักฟุตบอลในฐานะเครื่องมือในการสื่อสาร ทั้งในแง่การบ่งบอกความเป็นตัวเอง หรือบางครั้งก็เอาไว้ตอบโต้เสียงวิจารณ์ และในที่สุดรีแอ็กชั่นก็ได้กลายเป็นแอ็กชั่น

ตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คือ เยอร์เกน คลินส์มันน์ ดาวยิงชาวเยอรมัน ที่มักจะถูกวิจารณ์ว่าชอบพุ่งล้มในกรอบเขตโทษ แต่เขาก็ตอบโต้มันด้วยการเอาท่าพุ่ง หรือ มาเป็นท่าดีใจประจำตัวจนกลายเป็นเครื่องหมายการค้า

หรือในกรณีของ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ อดีตดาวยิงลิเวอร์พูล ที่ตอบโต้ข่าวลือว่าเขาเป็นพวกขี้ยาด้วยท่าดีใจสุดอื้อฉาวอย่าง “พี้โคเคน” ในเกมพบเอฟเวอร์ตันในปี 1999 ที่ท้ายที่สุดต้องทำให้เขาถูกแบนไปถึง 4 นัด และไม่ได้ใช้ท่านี้ที่ไหนอีกเลย

“นั่นอาจจะเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคคลเพื่อตอบโต้คำวิจารณ์” เทอร์เนอร์ อธิบาย

“เราไม่ควรกล่าวถึงมันน้อยกว่าความเป็นจริง คนทำประตูมักจะมีพื้นที่สำหรับการสื่อสารอยู่เสมอ ซึ่งอาจเป็นข้อความที่มีความสำคัญในทางการเมือง สำคัญในแง่บุคคล สำคัญในแง่ส่วนรวม หรือในฐานะส่วนหนึ่งของทีม”

ดังนั้น การแสดงความดีใจหลังยิงประตูจึงมาพร้อมกับวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน แต่ไม่ใช่ทุกท่าเป็นท่าที่ดี เพราะบางครั้งมันก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอนได้จากการกระทำที่อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

หนึ่งในนั้นคือท่าทำความเคารพแบบนาซีที่ เปาโล ดิ คานิโอ เคยทำสมัยค้าแข้งกับ ลาซิโอ เมื่อปี 2005 จนทำให้เขาถูกแบนไป 1 นัด ก่อนที่ในปี 2013 จอร์จอส คาติดิส แข้งของ เออีเค เอเธนส์ จะมาทำอีกครั้ง และทำให้แข้งวัย 20 ปีในตอนนั้น ถูกแบนจากทีมชาติกรีซตลอดชีวิตทั้งที่อ้างว่าไม่ได้ตั้งใจ

“ผมไม่ใช่ฟาสซิสต์ และผมคงไม่ทำอย่างนั้น หากรู้ว่ามันหมายความว่าอะไร” คาติดิส อธิบายใน Twitter ส่วนตัวเมื่อปี 2013

หรือในกรณีของ เอ็มมานูเอล อเดบายอร์ อดีตกองหน้า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่วิ่งจากอีกฝั่งหนึ่งของสนามไปสไลด์เข่าต่อหน้ากองเชียร์ อาร์เซนอล ทีมเก่าของเขา ในเกมที่ทั้งสองทีมพบกันในปี 2009 จนถูกแบน 2 นัดด้วยข้อหาไม่เคารพคู่แข่ง

“ผมถูกข่มเหงจากคนที่เมื่อ 6 เดือนก่อนยังร้องเพลงเป็นชื่อผม” อเดบายอร์ อธิบายเหตุผล

“การข่มเหงนั้นไม่มีเหตุผล มันไม่ใช่ความผิดของผมที่จากทีมไป แต่ อาร์แซน (เวนเกอร์) เป็นคนที่อยากรับข้อเสนอนี้”

“พวกเขาปรบมือให้กับ โคโล (ตูเร่) แต่ตะโกนด่าผมก่อนเกม หรือแม้กระทั่งตอนเริ่มเกมไปแล้ว ถ้าคุณข่มเหงคนที่เจอตามถนนอยู่เป็นชั่วโมงเขาต้องตอบโต้แน่ และมันคงเป็นการตอบโต้ที่เลวร้ายกว่าการฉลองการทำประตูด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน การแสดงความดีใจก็ไปไกลกว่าที่คิดไว้

 

 

ป๊อบคัลเจอร์

อันที่จริง เหตุผลหนึ่งที่ทำให้การฉลองประตูกลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายในวงกว้าง อาจจะต้องให้เครดิตแก่ความบันเทิงอย่าง วิดีโอเกม เมื่อ วินนิ่งอีเลฟเว่น

(ในปัจจุบัน) และ FIFA คือสองหัวหอกสำคัญในการเอาท่าดีใจไปใส่ในเกม

เพราะนับตั้งแต่ปี 1993 แฟนเกมก็ได้ซึมซับท่าดีใจที่ถอดแบบมาจากโลกความจริง ไม่ว่าจะเป็นท่าตีลังกาตีลังกาซัมเมอร์ซอลต์ สไลด์เข่าคู่ ท่าเครื่องบิน เรื่อยมาจนถึงยุคหลังอย่างท่า Siu ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือท่าชี้มือขึ้นฟ้าของ เมสซี่

และสิ่งนี้ก็ทำให้การแสดงความดีใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยหรือป๊อบคัลเจอร์ในปัจจุบัน แถมหลายสื่อยังหยิบยกเรื่องท่าดีใจของนักเตะมาเป็นประเด็น และอธิบายว่าพวกเขากำลังทำท่าอะไรหรือเพราะเหตุใดจึงทำแบบนั้น

ยกตัวอย่างเช่นท่า “ทำอาหาร” ของ แซร์จ นาบรี ที่กลายเป็นประเด็นจนเจ้าตัวต้องออกมาอธิบายว่าเขาเลียนแบบมาจาก เจมส์ ฮาร์เดน นักบาสเกตบอล NBA

“ผมได้คุยกับเพื่อนก่อนเกม และเขาก็แบบว่าแกต้องทำประตูให้ได้ และเมื่อแกทำประตูได้ ..” กองกลางบาเยิร์น มิวนิค อธิบาย

“ผมคิดว่าบางทีอาจจะเป็นเพราะ เจมส์ ฮาร์เดน ตอนนั้นทำแบบนั้น และเขาก็ดูร้อนแรง ผมเลยต้องทำแบบนั้นเวลาทำประตูได้”

แถมบางครั้งมันก็กลายเป็นไวรัลในยุคที่โซเชียลมีเดียช่วยโหมไฟและทำให้ไปไกลกว่าวงการฟุตบอล หนึ่งในนั้นคือท่าดีใจ “โอเคกลับหัว” ของ เดเล่ อัลลี อดีตนักเตะท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ในเกมพบกับ นิวคาสเซิล เมื่อปี 2018 จนทำให้ผู้คนพยายามเลียนแบบกันทั่วบ้านทั่วเมือง

เช่นกันสำหรับท่า “ซิ่ว” ของ โรนัลโด้ ที่เป็นหนึ่งในท่ายอดฮิตของนักกีฬาที่ไม่ใช่ฟุตบอล โดยหนึ่งในนั้นคือ นิค คีริออส นักเทนนิสชาวออสเตรเลีย ที่เพิ่งทำท่านี้ไปใน ออสเตรเลียน โอเพ่น 2022 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การแสดงความดีใจ ยังเคยเกือบกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อครั้งหนึ่ง แกเรธ เบล ปีกชาวเวลส์ พยายามจดทะเบียนท่า “หัวใจ” ซึ่งเป็นท่าดีใจประจำตัวเขาสมัยเล่นให้ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ แต่สุดท้ายฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาของอังกฤษก็ไม่รับจด

“แกเรธ เบล ที่เคยเล่นให้กับ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ และหลังจากนั้นก็ เรอัล มาดริด ในจุดหนึ่งเขาเคยพยายามจดลิขสิทธิ์ ท่าดีใจของเขา” เทอร์เนอร์ กล่าว

“นั่นแสดงให้เห็นว่ามันกลายเป็นเรื่องส่วนบุคคลได้อย่างไร”

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การฉลองประตู จึงไม่ใช่แค่ความสนุกหรือเพื่อความสุขเท่านั้น เมื่อมันเต็มไปด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป และทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้วสำหรับนักฟุตบอลในยุคปัจจุบัน

“ผู้เล่นแต่ละคนจะตระหนักว่าพวกเขาคือแบรนด์ พวกเขาดีลกับสปอนเซอร์ ดังนั้น พวกเขาจะต้องแสดงความดีใจที่สามารถเชื่อมโยงกับแฟนบอลได้ว่าพวกเขาคือใคร” มาร์ก เทอร์เนอร์ กล่าว

ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ถึงแม้จุดประสงค์ของมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่สิ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการทำประตู ซึ่งเป็นส่วนที่สนุกที่สุดของเกมลูกหนัง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

UFABETWIN